จิบชา อ่านหนังสือรับมือ 2019

เสวนาแนะนำหนังสือ : จิบชา อ่านหนังสือรับมือ 2019

ปี 2019 .. ผู้คนใหม่ๆ… เทรนด์ใหม่… ปัญหาใหม่ๆ… การเลือกตั้งครั้งใหม่(?)… สังคมโลกรูปแบบใหม่…

เราควรเดินไปทางไหน? จะรับมือกับโลกใหม่และสังคมที่แสนผันผวนนี้อย่างไร?

Book Re:public ได้รวบรวมหนังสือที่ผู้เข้าร่วมเสวนาในงาน จิบชาอ่านหนังสือ รับมือ 2019 ที่ผ่านมา ว่าพวกเค้าอยากส่งต่อ อยากชวนอ่านหนังสืออะไร เพื่อรับมือกับปี 2019 ที่พวกเรานั้นคาดเดาทิศทางความเป็นไปของประเทศแสนจะวุ่นวายได้ยังไง


Deconstruct 5: รัฐพันลึก

“…..จริงๆ แล้วเบสท์เป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือไม่บ่อยนัก จึงอยากแนะนำหนังสือที่เหมาะกับคนที่อ่านไม่บ่อย แต่อยากเริ่มอ่านอะไรใหม่ๆ และใกล้ตัว หนังสือเล่มที่อยากจะแนะนำเพื่อรับมือกับปี 2019 ครั้งนี้ก็คือหนังสือ “Deconstruct 5 รัฐพันลึก” หนังสือรวมบทบรรยายจากโครงการ TCIJ School ปีที่ 5 ซึ่งพูดถึงประเด็นอำนาจในหลากหลายมิติ ผ่านวิธีการที่คล้ายกับชื่อหนังสือ คือการเข้าไป “deconstruct” หรือพลิกพรมของเรื่องราวเข้าไปดูว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน รัฐ หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพรอบตัว

“…..โครงการ TCIJ และบทบรรยายจาก TCIJ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งเลยที่ผลักดันให้เราสนใจในประเด็นทางสังคมและมาเป็นนักกิจกรรม จึงทำให้เราอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเริ่มต้นในการทำความเข้าใจภาพรวมของปัญหาและประเด็นสังคมต่างๆ ในปัจจุบัน สำหรับคนที่อยากลองหาอะไรใหม่ๆ อ่าน หรือคนที่สนใจขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางความคิดที่ช่วยให้เรารับรู้และเข้าใจปัญหาของสังคมในมุมมองที่กว้างขึ้น และทำให้เราไม่ติดอยู่กับการมองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน อย่างน้อยที่สุดในปี 2019 ความมุ่งหวังหนึ่งของเราจากการอ่านหนังสือคือการไม่ตกลงไปในกับดักของอะไรสักอย่างจากการรับรู้มุมมองเพียงด้านเดียว….

“…..ในปี 2019 ประเด็นทางสังคมหลายประเด็นเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในระดับมวลชนและระดับนโยบาย อย่างประเด็นเรื่องสตรีและความหลากหลายทางเพศที่เราขับเคลื่อนอยู่เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าควรให้ความสำคัญไไม่แพ้เรื่องของความรู้ในเชิงลึกและข้อมูล ก็คือเรื่องการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเฉพาะถ้าเรามุ่งหวังจะขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นต่างๆ ร่วมกับผู้คนจริงๆ หากเรามีข้อมูลอยู่มากมายแต่ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้คนรับรู้และรู้สึกร่วมถึงความสำคัญของประเด็นเหล่านั้นไปด้วยกันได้ การขับเคลื่อนนั้นก็อาจเป็นไปได้ยาก 
ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างกำลังจะเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นย่อมต้องการหลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วม การสื่อสารที่ไม่ใช่เพียงแค่ส่งต่อข้อมูลแต่เป็นการสื่อสารที่ต้องใช้ใจและทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น เพื่อสร้าง active citizens ที่เข้าใจในปัญหาร่วมกันและพร้อมจะร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก…”

—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
เบสท์ ชิษณุพงษ์ นิธิวนา นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
ผู้ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศในชื่อกลุ่ม Young Pride


พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ


“…..หนังสือเล่มที่ผมอยากแนะนำคือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ของคุณวีรพร นิติประภา ซึ่งหลายคนคงทราบอยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งที่สองของผู้เขียนคนเดียวกัน สำหรับคนที่ติดตามนวนิยายไทย ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคล้ายๆ กับลมใหม่ที่ให้ความสดชื่นอะไรบางอย่างแก่คุณ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ให้ความสดชื่นนะครับ กลับกัน เนื้อหาในบางตอนรู้สึกอึดอัดบีบคั้นมากๆ เลย แต่ “ลมใหม่” ที่ว่า นั้นหมายถึงกลวิธีการเขียนก็ตาม หรือการวางพล็อตเรื่องก็ตามของเขาที่มันเป็นลมใหม่ซึ่งพัดพาเอาสิ่งที่ไม่ซ้ำเก่ามาให้แก่วงการนวนิยายไทย
.

“…..หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนตามแนวที่เขาเรียกกันว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ คำนี้เป็นคำที่น่าสนใจนะครับ สัจนิยมมหัศจรรย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่แฟชั่นทางการเขียนที่เราจะต้องเขียนอะไรใหม่ๆ แปลกๆ เท่านั้น แต่มันเป็นกลวิธีการเขียนที่ตอบสนองต่อความประสงค์บางอย่างของนักเขียน กลวิธีการเขียนนี้เกิดขึ้นและถูกใช้เพื่อพูดถึงสิ่งที่รัฐหรืออำนาจบางอย่างไม่อนุญาตให้พูดมาอย่างยาวนาน แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดอะไรที่มันพูดไม่ได้หรือเปล่า ผมก็จะบอกว่าไม่มีนะ เพราะในเมืองไทย เรามีเผด็จการที่ไม่ค่อยจะฉลาดนัก คุณจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ เผด็จการมันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ว่าคุณพูดว่าอะไร จริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้กลวิธีนี้ก็ได้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่า คือสัจนิยมมหัศจรรย์มันชวนให้คุณคิดในแง่มุมทางปรัชญาบางอย่าง ผ่านสิ่งที่คล้ายกับ Myth หรือตำนาน เทพนิยาย สัจนิยมมหัศจรรย์มันชวนให้คุณหวนคิดถึงความหมายอะไรบางอย่างที่อาจไม่ตรงกันระหว่างเรากับผู้เขียน หรือเรากับผู้อ่านด้วยกันเองก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นกลวิธีการเขียนที่ประสบความสำเร็จในการชวนให้คนได้ฉุกคิด ตั้งคำถามกับเรื่องราวรอบๆ สอดคล้องกับห้วงเวลาที่มันเกิดขึ้นมา คือยุคสมัยใหม่ ห้วงเวลาที่เราทุกคนสงสัยและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับความจริง ความทรงจำ ความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาพร้อมกับทุนนิยม…..

“…..ที่จริงผมตอบไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเรารับมือปี 2019 อย่างไร ที่สำคัญคือผมคิดว่าการเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ตอบโจทย์ใครแม้แต่ฝ่ายเดียว ทั้งฝ่ายที่ชนะและฝ่ายที่แพ้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งคงไม่ได้พาเราไปในทิศทางที่เราคาดหวัง มันจะเละแค่ไหนผมก็ไม่ทราบ แต่ที่น่ากลัวมากคือมันจะเละมากแค่ไหนในสังคมที่คนไม่อ่านหนังสือด้วย ในสภาพเละเทะอย่างนี้ถ้าคุณไม่รู้ข้อมูลที่เพียงพอ ผมว่าเราจะแก้ปัญหาให้เละขึ้นไปอีกด้วยซ้ำไป….”

———–บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ


สามานย์-สามัญ


“…..หนังสือเล่มที่นำมาแนะนำในวันนี้ เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นของคุณอุทิศ เหมะมูล ชื่อเล่มสามานย์ สามัญ ตีพิมพ์ในปี 2557 ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง ทั้ง 8 เรื่องนี้ตีพิมพ์ต่างที่ต่างเวลากัน เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ไล่มาจนถึง 2557 มี 2 เรื่องที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในรวมเล่มนี้ เราจะเห็นจากชื่อของทุกเรื่องว่าผู้เขียนมีภาพใหญ่บางอย่างอยู่ว่าเรื่องเหล่านี้สุดท้ายจะต้องไปรวมกันอยู่ในที่หนึ่ง โดยที่ฉาก เหตุการณ์ การดำเนินเรื่อง บรรยากาศทางสังคม และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครคือช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549

“…..มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ “กรุงเทพฯ กรงเทพฯ (1)” บรรยายความรู้สึกของเด็กอายุ 13-14 ที่ไปชุมนุมที่สนามหลวง ไปร่วมเหตุการณ์ทางการเมืองที่มันกำลังเพิ่มโมเมนตัมจนนำไปสู่จุดแตกหักบางอย่าง ผู้เขียนเลือกเล่าผ่านสายตาของเด็กที่ถูกทำร้ายโดยแม่ของตัวเอง การที่เขาได้ไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มของอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้นรุนแรง มันช่วยให้เขาผ่านวิกฤตบางอย่างไปได้ ขออ่านตัวอย่างข้อความให้ฟัง ‘ปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้สักระยะ เด็กหนุ่มรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เขาสนุกสนานเพลิดเพลินกับผู้ปราศรัย ความกราดเกรี้ยวของเขาหลั่งระบายเป็นหนึ่งเดียวกับความเกรี้ยวกราดดุดันของผู้ร่วมชุมนุม ในยามที่เขาเข้าร่วมตะโกนถ้อยคำอัดอั้นตันใจ เขารู้สึกว่าความคับแค้นในใจทุเลาลงไป เหมือนได้สำรากกลับมารดาด้วยคำหยาบ หยาบเท่าที่หยาบได้ใส่นายกรัฐมนตรี’ แล้วเรื่องบอกว่าวันนั้นคือวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 หลังจากนั้นเด็กชายก็เข้าไปร่วมการชุมนุมทุกครั้งไปจนกระทั่งถึงเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 เรื่องราวในนี้รวมถึงเรื่องอื่นๆ อาจพูดได้รวมๆ ว่ามันพูดถึงเหตุการณ์ บรรยากาศทางสังคม พื้นที่ทางวัฒนธรรม ของช่วงทศวรรษพ.ศ. 2550 แม้ว่าแต่ละเรื่องเหมือนเป็นเรื่องสั้นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันในเชิงเรื่อง แต่มันเป็นเรื่องที่พูดถึงความรู้สึกคับข้อง ไม่คลี่คลายและเรื่องราวของคนที่อยู่ท่ามกลางความคับข้องใจเหล่านั้นว่าเขาอยู่กับมันยังไง

“…..ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงรู้สึกว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในมวลอากาศ มันมีความอึดอัดหลายๆ อย่าง แต่แล้วจะพูดถึงสิ่งเหล่านั้นออกมายังไง ตอนหนึ่งในเรื่องสั้นอีกเรื่อง เป็นฉากที่แท็กซี่คุยกับผู้โดยสารชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางในเรื่องเล่าว่าเขาอยู่คนละฝั่งทางความคิดกับคนขับแท็กซี่ แต่เขาจะพูดยังไงไม่ให้ถูกไล่ลงจากรถ แล้วเขาก็บอกผู้อ่านว่า ‘ที่จริงแล้วเขาเป็นศิลปินที่มีหัวใจเป็นพวกอนาธิปไตย’ คือเรื่องนี้ในแง่หนึ่งมันกำลังบอกถึงความปากว่าตาขยิบของคนที่มีศักยภาพในการตัดสินใจทางการเมือง แต่การตัดสินใจหรือการที่เขาคิดว่ารู้ข้อมูลทุกอย่างแล้ว มันอาจเป็นคนละเรื่องกันเลยก็ได้ 

“…..ชื่อเรื่องสามานย์ สามัญ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่บอกสปิริตและอารมณ์บางอย่างของหนังสือเล่มนี้ได้ดี ก็คือเวลาเราอยู่ในห้วงบรรยายกาศหรืออารมณ์ทางสังคมบางอย่าง เรามักจะเคยชินกับสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราคิด บางทีเราก็เคยชินกับความมือถือสากปากถือศีลของตัวเอง แบบที่หลายๆ ครั้งที่สิ่งที่ตัวละครในเรื่องพูด หรือคิด หรือแสดงออกมา มันไม่ได้มีความสอดคล้องกันของโลกทัศน์ ชีวทัศน์ หรืออะไรใดๆ เลย ดังนั้นเวลาที่เราอ่านเรื่องนี้ มันเหมือนการเตือนและช่วยให้เราเห็นภาพความเคยชินบางอย่างชัดขึ้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเล่มที่อยากแนะนำให้ได้อ่านกันเพื่อที่จะได้ทบทวนและไม่ลืมว่าตัวเราและสิบปีที่ผ่านมาเป็นยังไง ก่อนจะรับมือกับปีหน้าและปีต่อๆ ไป…..”

—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี”

“…..ผมมองว่า “Thailand 4.0” ของ คสช. เป็นอุดมการณ์ของ คสช. เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการใช้อุตสาหกรรมแรงงานแบบเข้มข้นมาเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราจะเห็นบรรยากาศการส่งเสริมธุรกิจ Start up ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ มันเคยมีหนังเรื่อง App War ของ T-Moment เล่าเรื่องคู่รักสองบริษัทที่คอยชิงไหวชิงพริบแข่งกันทำ App มาขาย บรรยากาศเหล่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริง “Thailand 4.0” กำลังสร้างปัญหาให้กับ “ประชาธิปไตยของความรู้” และ “วิกฤตสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์” ในประเทศไทย 


“…..นับตั้งแต่เจ้าของแนวคิด “Thailand 4.0” คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายรัฐ โครงสร้างการวิจัยของประเทศก็เริ่มเปลี่ยน บอร์ดสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งเคยมีสาขาทั้งสายวิทย์และสายศิลป์กลับถูกยุบ และเปลี่ยนเป็นบอร์ด “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” แค่ฟังชื่อก็รู้แล้วว่าความรู้ที่บอร์ดใหม่นี้จะเน้นคือเรื่องอะไร เขาเห็นหัวความรู้อื่นๆ แบบที่เคยเป็นมาไหม ก็คงไม่มีทาง และมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นปัญหากว่าก็คือ การควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ + สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา + สำนักคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ + สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ให้มาเป็นกระทรวงใหม่ อันนี้จะทำให้ระบบวิจัยต้องขอทุนวิจัยตามนโยบาย Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วที่ทางของการศึกษา “สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์” จะอยู่ตำแหน่งแห่งที่ตรงไหน? มันคือวิกฤตชัดๆ…..
.
“…..เอาเข้าจริง “การต่อสู้ทางการเมืองของความรู้” นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ตอนกระทรวงวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ก็มีการดึงสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงวิทยาศาสตร์ พอราว พ.ศ. 2545 (ถ้าจำไม่ผิด) ก็แยกมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่า “การที่ วช. อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์จะทำให้คนเข้าใจผิดว่าการวิจัยเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่” เหตุผลทำนองนี้เขาเขียนในราชกิจจานุเบกษาเลย เราสามารถไปตามหาอ่านได้ 

“…..เพราะฉะนั้น ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เทคโนแครต/นักวิทยาศาสตร์เขาอยากได้ส่วนแบ่งทางอำนาจในปริมณฑลทางการเมืองของความรู้ และก็กำลังได้เปรียบอย่างมากในรัฐบาล Thailand 4.0 ยุค คสช. นี้ ผมว่าวิธีหนึ่งที่จะรับมือได้คือการอ่านหนังสือเรื่อง “วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี” ของ พอล ฟายเออนาเบนด์ หนังสือเล่มนี้หายากและขาดตลาดนานแล้ว แต่ยังพอหายืมได้ที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มช. อยู่
.
“…..หนังสือเล่มนี้ ฟายเออราเบนด์ เสนอว่าทุกวันนี้สิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” มันมีอำนาจล้นเกินมากในสังคมเสรี อุดมการณ์วิทยาศาสตร์ได้กดทับความรู้อื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น โหราศาสตร์ ถ้าหากจะตัวอย่างใกล้ตัวก็คือ มันมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเปิดวิชาโหราศาสตร์ แล้วก็มีสายวิทย์หลายคนในเฟซบุ๊กออกมาโจมตี ผมว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลยนะ อย่างตัวฟายเออราเบนด์ เขาจัดวางจุดยืนว่าเป็น “นักอนาธิปไตยทางญาณวิทยา” หรือ “อนาธิปไตยทางความรู้” ทีนี้เขาก็เสนอว่าสามัญชนควรมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเพียงฝ่ายเดียว ส่วนในแง่ของการต่อสู้กันทางความคิดหรือความรู้ก็ควรจะปล่อยให้ความรู้ทุกสาขาต่อสู้กันอย่างอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้บางฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า เพราะตามความเห็นของฟายเออราเบนด์ วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ทำตัวไม่ต่างจากคริสตจักรในสมัยยุคกลางแล้ว
.
“…..ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน ผมอ่านแล้วตอนนั้นผมตื่นเต้น แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามีข้อวิจารณ์อยู่เหมือนกัน คือ ทุกวันนี้เราไม่อาจจะปฏิเสธอำนาจของวิทยาศาสตร์ได้เลย และก็เป็นไปได้ยากที่จะหาความรู้ชุดอื่นมาปะทะคัดง้านกับวิทยาศาสตร์ได้ โอเค พุทธศาสนาแบบไทยอาจจะเป็นข้อยกเว้น แต่ผมว่าพุทธศาสนาก็ไม่สามารถครอบงำแทนที่วิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด บางทีฟายเออราเบนด์ก็โจมตีวิทยาศาสตร์มากเสียจนลืมไปว่าเราจะมีวิธีอย่างไรในการอยู่ด้วยกันกับวิทยาศาสตร์
.
“…..ผมเสนอทางออกอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก วงการวิทยาศาสตร์ควรจะปรับกระบวนทัศน์ให้เปิดรับความรู้สาขาอื่นให้มากกว่านี้ ความรู้สาขาอื่นในที่นี้ไม่ใช่แค่ “สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์-ศิลปศาสตร์” แต่รวมไปถึงโหราศาสตร์ ความเชื่อพื้นบ้าน หรือ สิ่งที่เรียกว่า “pseudoscience” ทั้งหลายด้วย การเอาแต่ไปโจมตีความรู้สาขาอื่นว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์/โง่/งมงาย ไม่ใช่ทางออกของปัญหาเลย เพราะหากศึกษาในทางสังคมให้ลึกซึ้งกว่าที่เป็นอยู่ ผู้คนเขาก็มีเงื่อนไขที่ทำให้เอื้อต่อการใช้ความรู้เหล่านี้ เช่น การเชื่อเรื่องดวงชะตาและการขอหวย ก็ต้องดูโครงสร้างสังคมที่ทำให้เขาต้องเล่นหวย ถ้าอยากแก้คุณก็ต้องออกแบบนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่มา “สื่อสารวิทยาศาสตร์” บอกว่าคุณขอหวยน่ะมันงมงายซึ่งไม่ใช่ อีกแนวทางหนึ่งก็คือสามัญชนก็จำเป็นจะต้องเข้าใจความรู้ วิธีคิด และ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ให้มากกว่านี้ แต่ไม่ใช่การเข้าใจเพื่องมงายหรือเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เพื่อใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หากรู้วิทยาศาสตร์ ผมว่าอาจจะช่วยให้การต่อสู้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจจะประนีประนอมง่ายขึ้นหรือหาเหตุผลมาแก้ต่างฝ่ายรัฐ/ฝ่ายทุนได้มากขึ้น อย่างน้อยภาคประชาชนจะได้รู้ทันรัฐ/นายทุน/คสช./เทคโนแครตในทางความรู้ได้ดีขึ้นเช่นกัน
“…..จริงๆ ข้อเสนอของผมไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่อาจารย์นิธิเคยเสนอในหนังสือรวมบทความเรื่อง “ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์” ที่ว่าวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องของโรงงานเรื่องของการค้าขาย ไม่ได้เป็นเรื่องของชาวนาตาสีตาสาซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้นในความคิดของอาจารย์นิธิ สิ่งที่ผมคิดก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือของอาจารย์นิธิเล่มนั้นด้วย รวมถึง “วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี” ก็ด้วย

“….สุดท้ายแล้วผมขอฝากหนังสือเล่มเล็กของฟายเออราเบนด์ไว้สำหรับรับมือ “Thailand 4.0” หากมีใครสนใจอ่านจนจบก็จะเข้าใจสิ่งที่ผมพูดมาตลอดตั้งแต่ต้น และช่วยกันสร้าง “ประชาธิปไตยของความรู้” ให้เกิดขึ้น หรืออาจกล่าวได้เช่นกันว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะต้องเกิดขึ้นในบรรยากาศของประชาธิปไตย ไม่ใช่การผูกขาดอำนาจอยู่ที่เทคโนแครต/ข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว…..”


—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
สิกขา สองคำชุม นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“เหตุเกิด พ.ศ. 1”

“…..ในปี 2019 นี้ พุทธศาสนายังคงมีพลังกับสังคมไทยอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดก็ยังอยู่ในความคิด ความรู้สึกของเรา แต่ทีนี้ในมุมมองหนังสือ ผมเห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหนังสือที่มีการไหลเวียนสูง เพราะมีคนที่พร้อมจะสละทรัพย์ในการพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทานตามที่เราทราบ เต็มโรงพยาบาล เต็มสถานที่ราชการ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนไทยอ่านมันมากน้อยแค่ไหน หนังสือพุทธศาสนาเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วไปอยู่ในร้านขายหนังสือเก่า ขายกระดาษเก่าหรือเปล่า


“…..ปัญหาหนึ่งของการอ่านหนังสือศาสนาในสังคมไทยที่ผมเห็นคือ เรามักจะอ่านหนังสือที่เป็นการถ่ายทอดมาจากผู้รู้ ผู้เป็นคุรุทางจิตวิญญาณ หรือสายปฏิบัติในประเทศไทย เรามักจะอ่านด้วยความซาบซึ้งในจิตใจในทางเดียว ส่วนหนังสือวิพากษ์ศาสนาที่พอจะมีในปัจจุบันก็ก็อย่างหนังสือของอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ คุณวิจักขณ์ พานิช, คุณคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, คุณสมภาร พรมทา ซึ่งยังไม่นับรวมถึงงานวิชาการทางมานุษยวิทยาที่ค่อนข้างอ่านยากสำหรับคนทั่วไป


“…..ผมอยากชวนให้ทุกคนลองอ่านศาสนาในมุมที่มันอาจไม่ซาบซึ้ง และลองอ่านการเมืองที่มันอยู่ภายใต้ศาสนา หนังสือที่นำมาแนะนำวันนี้คือหนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ. 1” ผู้เขียนคือนายแพทย์มโน เลาหวณิช หนังสือเล่มนี้เป็นงานค้นคว้าทางศาสนาที่ถือว่าสร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะว่าไม่มีสำนักพิมพ์ใหญ่ใดกล้าจะรับไปพิมพ์เลย ด้วยเนื้อหาของมันที่ว่าด้วยศาสนาในมุมที่ไม่ค่อยมีคนกล้าพูดถึงสักเท่าไหร่ในยุคนั้น

“…..หนังสือเล่มนี้นอกจากจะพูดถึงพุทธปรินิพพานในทางการแพทย์แล้วยังเปรียบเสมือนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพุทธศาสนาแบบเถรวาทอย่างหนึ่ง หนังสือเล่มนี้จะพาเราย้อนกลับไปถึงการรับรู้ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก การเมืองของพุทธศาสนาในยุคแรกเริ่มจนถึงสังคมสยามนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ที่ 1รวมไปถึงประเด็นที่น่าสนใจในพุทธศาสนาอีกหลายๆ ประเด็นอย่างประเด็นภิกษุณี ว่ามันเกิดอะไรขึ้น หนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงใกล้พุทธปรินิพพาน และชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราไม่ควรมองว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่พ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง โดยหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นการเล่นการเมืองภายในที่เกิดขึ้นระหว่างพระอรหันต์และพุทธสาวกด้วยกันอย่างน่าสนใจ

“…..หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมอยากแนะนำสำหรับปี 2019 แม้มันจะอ่านยากอยู่บ้าง เพราะผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ในสังคมพุทธ และในปี 2019 ถ้าคนจะอ่านมากขึ้นในแง่ของการวิพากษ์ แม้แต่หนังสือศาสนา เราก็ไม่ควรมองมันเป็นเรื่องทางธรรมอย่างเดียวจนไม่คิดจะตั้งคำถามอะไร…”

—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
ปาณัสม์ วัจนพิสุทธิ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


Fahrenheit 451


“…..หนังสือ ฟาเรนไฮต์ 451 เล่มนี้ ผมอ่านแล้วนึกถึงประเทศไทยเลยนะ ตัวละครเอกในเรื่องนี้เป็นนักผจญเพลิง ในโลกของเขาที่หนังสือใกล้จะสูญพันธุ์ หนังสือถูกมองเป็นสิ่งเก่าแก่ล้าสมัย เข้าใจยาก และเต็มไปด้วยความเครียด นักผจญเพลิงอย่างเขา แทนที่จะดับเพลิง… หน้าที่ของเขาจึงกลับเป็นการทำลายหนังสือด้วยการจุดเพลิง…

“…..เมื่อผู้มีอำนาจมองว่าพวกคุณเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้หรอกว่าอะไรคือสิ่งที่ดี เขาที่เป็นคนผิวขาว ที่เป็นรัฐบาล ที่เป็นผู้นำ ที่เป็นคนที่มีปืนอยู่ในมือจึงกลายเป็นคนที่รู้ดีที่สุด เขาจะเริ่มมีอำนาจที่จะบอกว่าสิ่งที่คุณรู้มันถูกหรือผิด เหมือนที่มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง ฟาเรนไฮต์ 451 เล่มนี้…

“…..เรื่องราวในเรื่องมันคล้ายคลึงกับชีวิตของเราในยุค คสช. เมื่อคุณพูดถึงเรื่องบางเรื่อง แสดงความคิดเห็นบางอย่าง ก็จะมีหน่วยรักษาความสงบเข้ามาจัดการ-แต่สิ่งที่ตัวละครในนิยายเจอไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นนักดับเพลิงและรถดับเพลิงที่มาพร้อมกับเบนซิน…

“…..หนังสือมันพูดถึงการที่เราตั้งคำถามไม่ได้อย่างน่าสนใจพอสมควร ทำไมเราถึงตั้งคำถามไม่ได้? ทำไมการตั้งคำถามถึงเป็นความผิด? ความผิดนั้นเริ่มต้นจากตรงไหนกันแน่? มันผิดเพราะมันขัดผลประโยชน์หรือทำให้ใครสักคนหนึ่งไม่พอใจหรือเปล่า? หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่น่าอ่านและควรจะอ่านเป็นอย่างยิ่ง…”

—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
พาที แซ่ตั้ง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


A Radical History of the World

“…..ส่วนตัวผมสนใจในประเด็นการเมืองของฝ่ายซ้าย ลักษณะของการอธิบายและการอิงทฤษฎีของฝ่ายซ้ายค่อนข้างจะเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ เช่นการปฏิวัติช่วงนี้มีใครบ้างอย่างนั้นอย่างนี้ หรือการปฏิวัติที่อิหร่านสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ซึ่งบางทีอ่านแล้วก็จนมุมว่าหลังจากนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในฐานะที่เป็นคนอ่านหนังสือธรรมดาๆ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์อะไร หากจะต้องแนะนำหนังสือที่เป็นการปูพื้นความคิดก่อนที่จะไปอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ต่อในประเด็นที่ว่านี้ เล่มที่อยากจะแนะนำคือ “A Radical History of the World” โดย Neil Faulkner ซึ่งเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และเป็นมาร์กซิสต์

“…..ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ของมาร์กซิสต์ บางคนอาจมองว่ามันตายไปแล้วตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้เป็นการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของมาร์กซิสต์ขึ้นมาอีกครั้งจนกระทั่งถึงช่วงเวลาร่วมสมัยปัจจุบันคือปีที่ผ่านมาที่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมเรื่องราวของหนังสือ A Marxist History of the World ที่เคยถูกเขียนมาก่อนแล้วบางส่วนมาเรียบเรียงและอัปเดตใหม่ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่ดีและเหมาะกับการอ่านเพื่อเป็นเครื่องมือในการอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ต่อไป เพราะหนังสือเสนอมุมมองและเหตุการณ์ที่มักจะถูกมองข้ามในหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป แล้วก็เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนอ่านทั่วไปในแง่ที่ว่ามันไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการอ้างอิงหลักฐานหรือมีลักษณะเป็นวิชาการมากขนาดนั้น เป็นการเขียนแบบเล่าเรื่องมากกว่า

“…..ถ้าเราจะอ่านหนังสือเล่มนี้ในฐานะชนชั้นสำราญชน คืออ่านเพื่อเอาสนุก มันก็สนุกมากเหมือนกัน บางเหตุการณ์ในหนังสือที่มันสะเทือนใจมากพออ่านแล้วคิดตามบางทีก็ให้อารมณ์ความรู้สึกที่เศร้าเสียใจมากอยู่เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้มันแสดงให้เห็นความเป็นประวัติศาสตร์ที่เรามักจะอ้างว่ามันคือความจริง ว่าจริงๆ แล้วมันก็คือเรื่องเล่าเหมือนกัน และอิทธิพลของเรื่องเล่าก็มีอิทธิพลกับเราเหมือนกัน…..”


—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
ปฐมพงศ์ กวางทอง


เมียชายชั่ว

“…หนังสือที่อยากแนะนำในวันนี้คือ “เมียชายชั่ว” หนึ่งในชุดหนังสือของดะไซ โอซามุ เพราะคิดว่าเป็นหนังสือที่น่าจะช่วยให้เรารับมือกับชีวิตที่บัดซบได้

“…งานของโอซามุจะเป็นงานที่ค่อนข้างดาร์ก และส่วนมากจะสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การอ่านงานของดะไซมักจะชวนให้เราได้หยุดทบทวนตัวเอง มีประโยคหนึ่งที่เราชอบมากจากเรื่องเมียชายชั่ว คือ “เดนมนุษย์ก็ไม่เป็นไรนี่คะ ขอแค่พวกเรามีลมหายใจก็พอแล้ว” เรื่องราวในเล่มมันสะท้อนภาพความล้มเหลวของชีวิตและการล่มสลายของสังคมหลังสงครามโลก ซึ่งเปลี่ยนญี่ปุ่นที่เคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่จากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างนวนิยายของดะไซเล่มแรกที่เราได้อ่านและชอบมากคือ “สูญสิ้นความเป็นคน” ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขาที่สะท้อนเรื่องราวในชีวิตและตัวตนของตัวเองออกมาผ่านนิยาย

“…“เมียชายชั่ว” เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีธีมหลักเป็นเรื่องของผู้หญิง นอกจากมันจะสะท้อนเรื่องราวของผู้หญิงญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่น การอ่านหนังสือเล่มนี้แม้จะทำให้เราดิ่งไปกับความดำมืดและความสิ้นหวังของชีวิต แต่มันก็ช่วยให้เราทบทวนทางเลือกและทางออกของชีวิต ว่าเราจะเลือกจบชีวิตลงเหมือนผู้เขียน หรือจะแสวงหาทางออกใหม่ๆ เพราะความตายอาจไม่ใช่คำตอบเดียวกันสำหรับชีวิตของทุกคน 

“….มันมีความหวังแฝงอยู่ในความสิ้นหวังเหล่านั้นอยู่ ถ้าเราอ่านแล้วทบทวนกับมันมากๆ มันอาจช่วยให้เรารับมือกับสภาพสังคมที่ล้มเหลวและชีวิตที่ล้มเหลวได้ดี สรุปว่าเล่มนี้ค่อนข้างเหมาะที่จะใช้รับมือกับชีวิตที่บัดซบ ย่ำแย่ ในแง่ที่มันช่วยให้เราได้หยุดไตร่ตรองตัวเองมากขึ้นผ่านเรื่องราวบัดซบของคนอื่นเมื่อเราสวมสายตาของความเป็นคนอ่าน…”


—————บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“เฟื่องนคร”


“….. ‘เฟื่องนคร’ คือนิยายที่เล่าถึง ‘เฟื่อง’ ดาราวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาในวงการด้วยฝีมือ และกระแสคู่ชิปกับดาราอีกคน เราชอบการจำลองสังคมสาววายขี้ชิปในวงแฟนคลับพี่เฟื่อง การที่มีคนชอบถามพี่เฟื่องในเรื่องว่า “ตกลงพี่เป็น (เกย์) ใช่ไหมคะ” ในความเผือกมันมีจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่อยู่ในนั้น เราตีความว่ามันคือการ force someone to come out คือการบังคับให้ใครบางคนแขวนหรือไม่แขวนป้าย ‘เกย์/แมน’ ไว้บนคอ 

“…..เรายินดีกับการแสดงออกอย่างภาคภูมิใจว่าคุณเป็นใคร แต่การ come out หรือการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของคนมันเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่นะ เราควรมีสิทธิ์ตัดสินใจ right place, right time ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนนอกมาบังคับให้คุณแสดงออกโดยที่คุณไม่พร้อมหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้น นี่ยังไม่นับว่าแนวคิด come out มันมีปัญหาในตัวมันเองแบบที่จะเห็นได้จากในเรื่องว่าเฟื่องต้องมาจัดโต๊ะแถลงเชิญนักข่าวมาฟังเขายอมรับว่าเป็นเกย์ ในขณะที่การเป็น straight หรือมีรสนิยมรักเพศตรงข้ามไม่เคยต้อง come out หรือมีช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่านหรือเปิดเผยตัวตนทางเพศอย่างเป็นทางการ


“…..สาววายที่มีบทบาทในการชิปผู้ชายนั้นจริงๆ แล้วมีบทบาทน้อยมากในการขับเคลื่อนประเด็น LGBT อย่างน้อยมีคนเห็นด้วยเรื่องสิทธิแน่ๆ แต่การบรรจุเรื่องนี้เข้าเป็นไอเดียพื้นฐานของนิยายวาย เช่น สิทธิคู่ชีวิต หรือแม้แต่ how to have (safe) sex ของผู้ชายกับผู้ชาย ฯลฯ ยังไม่ค่อยเห็นมาก อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเรื่องพาเราไปพบประเด็นที่น่าสนใจของการ “ดราม่า” และภาวะอกหักของสาววายหรือผู้ชมเวลาที่ตัวละครที่ตัวเองตั้งความหวังไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่รักไม่ชอบคนที่ตัวเองชิปไว้หรือจิ้นไว้ ทำไมฉันชิปผิดคู่ ฯลฯ 


“…..มันอาจดูตลกที่เราเลือกแนะนำหนังสือเล่มนี้ในฐานะตัวแทนหนังสือที่ต้องอ่านเพื่อรับมือปี 2019 แต่สิ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้คือเรื่องคอขาดบาดตายที่เราเห็นในทวิตเตอร์ ในเฟซบุ๊ก ในพื้นที่ทางสังคมต่างๆ เวลาเรายึดเอาบุคคลสาธารณะมาเป็นสรณะ เราว่าการเกิดขึ้นของมวลอารมณ์แบบนี้เป็นเรื่องน่ากลัวและจริงจัง เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เกิดกับใครก็ได้ ในอินเทอร์เน็ตเราจะด่าใครก็ได้ โกรธใครก็ได้ การจะเกรี้ยวกราดผ่านคีย์บอร์ด หรือถาโถมความไม่พอใจต่อบุคคลสาธารณะที่เราไม่สนิทเพียงเพราะเราชิปผิดคู่ได้ฉันใด เรื่องเล็กๆ อื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตก็ทำให้คนมหาศาลเป็นบ้าได้ฉันนั้น และมันจะเป็นอย่างนี้ไปจนถึง 2019 หรือ 3019 ถ้าเรายังดึงตัวเองกลับมาจากความเกรี้ยวกราดนั้นไม่ได้…..”


—————บางส่วนจากรีวิว “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019” 
ชนฐิตา ไกรศรีกุล นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แล้วคุณล่ะ เลือกหนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านรับมือปีนี้

Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and