3 เล่ม วิพากษ์การศึกษาไทย แกะรอยวัฒนธรรมอำนาจนิยม

Posted by:

|

On:

|

3 เล่ม วิพากษ์การศึกษาไทย แกะรอยวัฒนธรรมอำนาจนิยมภายใต้บริบทเรื่อง เครื่องแบบ ร่างกาย ระเบียบวินัย และการต่อต้าน

ในปี 2020 สังคมไทยมีปรากฎการณ์ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ที่เหล่านักเรียน นักศึกษาได้รณรงค์แต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างการถกเถียงและผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาบางส่วนจนได้รับบทลงโทษจากกฏระเบียบของสถานศึกษาและผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

เช่นเดียวกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อกรณี “หยก”แต่งชุดไปรเวทและย้อมผมไปโรงเรียน จึงทำให้ประเด็นเครื่องแบบ ทรงผมของโรงเรียนวนกลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง ด้วยความเข้มข้นของค่านิยมระเบียบวินัยของระบบการศึกษาไทยที่ฝังลึก จึงทำให้ประเด็นนี้ต้องต่อสู้มาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ “หยก” แต่ยังมีแต่ยังมีนักเรียน นักศึกษาและอีกหลายคนที่ยังยืนยันว่าสิ่งนี้คือปมปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยต้องยกมาพูดคุยและหาหนทางสร้างการเปลี่ยนแปลง

Book Re:public จึงอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจอำนาจที่ควบคุมอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องแบบ” “ระเบียบวินัย” มีความเป็นมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย, การทำงานของเครื่องแบบและกฎเกณฑ์ในสถานศึกษาควบคุมเนื้อตัวร่างกายและความคิดของคนในสังมอย่างฝังลึกยาวนานได้อย่างไร และเรื่องราว ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องปะทะกับอำนาจนิยมล้าหลังในสถานศึกษาที่ไม่สอดรับกับสังคมโลกที่หมุนไปข้างหน้าในหนังสือสามเล่มนี้

เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย :
ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการศึกษาในสังคมไทย จากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ การรัฐประหาร และระบบราชการ ตั้งแต่ พ.ศ.2490-2562 (On Thai-Education)

โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เขียน

“…ภายใต้ระบบและวัฒนธรรมของราชการที่มีลักษณะปกครองแบบแนวดิ่งเน้นทำตามคำสั่ง ควบคุมและจับผิด ทำให้การควบคุมพฤติกรรมและวินัยของนักเรียนกลายเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียนไปด้วย อาจจะกล่าวได้ว่า การควบคุมเรือนร่างนักเรียนผ่านเครื่องแบบเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การควบคุมเรือนร่างและการละเมิดสิทธิ์เหนือร่างกายอื่นๆ โรงเรียนมีสิทธิ์อำนาจเด็ดขาดในการดูแลชีวิตและความเป็นไปของนักเรียน ไม่มีองค์กรหรือกลไกลใดมาคานอำนาจ หรือควบคุมความรุนแรงภายในโรงเรียน….”

หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า พลังความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม มาจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐที่มีฐานสำคัญมาจาก “การรัฐประหาร” ที่มีบทบาทในสังคมการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ผลพวงดังกล่าวทำให้ระบบการศึกษาและกลไกลสนับสนุนอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนผ่านสู่ยุคต่าง ๆ ความรุนแรงที่หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ผลพวงจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาของไทย ที่สะท้อนจากโครงสร้างอำนาจนิยมทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเผด็จการและระบบราชการมายาวนาน ซึ่งบางเครือข่ายธำรงอำนาจทางการเมืองและจัดทรัพยากรอยู่ในมือได้ เช่น กลุ่มทุนผู้ใกล้ชิดกับรัฐหรือเครือข่ายผู้ผลิตความรู้ กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลแบบใด พวกเขาก็มีอำนาจต่อรองได้เสมอและยิ่งทวีความสำคัญและมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในช่วงรัฐประหารและการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น ที่สำคัญการศึกษาเช่นนี้ควรเป็นการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นช่วงเวลายาวนานที่มีการก่อร่าง สานต่อ กระทั่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกระบวนการรวมศูนย์อำนาจทางการศึกษาในสังคมไทย

นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี 

โดย เนติวิทย์ โชติภัทธ์ไพศาล

“เธอมีหน้าที่เรียน ก็เรียนให้ได้ก็พอ” ผมมักจะเจอข้อความนี้ตอบกลับตนเองเสมอ รวมถึงนักเรียนที่คุยกับครูในห้องแล้วครูตอบกลับแบบนี้ มันไม่ได้มีอะไรนอกจากจะตอกย้ำว่า โรงเรียนรี้ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียน และหลงทางกับปรัชญาการศึกษา โรงเรียนเป็นสถานที่นักเรียนมาเรียนเท่านั้นหรือ และต้องเผชิญหน้ากับการใช้อำนาจจากครู พยายามเอาตัวรอดให้ได้โดยเหมือนๆ กันนั้นหรือ แล้วโรงเรียนจะไม่ต่างจากคุกได้อย่างไร นอกจากขโมยการควบคุมร่างกายของนักเรียนแล้วยังควบคุมความคิดด้วย….“

บันทึกเรื่องราวความพยายามปฏวัติเล็กๆในรั้วโรงเรียนของ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักเรียน การตั้งคำถามตั้งแต่เรื่องระเบียบทรงผม ชุดนักเรียน จนไปถึงการเคารพธงชาติและการสวดมนตร์หน้าเสาธงทุกเช้า กลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่สั่นคลอนความปกติสุขของวัฒนธรรมแสนดีในรั้วโรงเรียน แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยเป็นวงกว้างในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตการเป็นนักเรียนของ”เนติวิทย์”สิ่งที่เขาทำกลายเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของระบบการศึกษาที่แสนดี จนถูกขนานนามในโรงเรียนว่า “นักเรียนผู้มีทัศนคติอันตรายต่อความมั่นคงของโรงเรียน”

เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว
ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย

โดย ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์

“สมรภูมิทรงผมถือเป็นการต่อสู้ที่ร้อนแรงและต่อเนื่องยาวนาน เป็นประเด็นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างกว้างขวางแม้แต่การออกระเบียบที่สั่งการมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้โดยตรงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบฉบับวัฒนธรรมที่ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ทั้งในช่วงรัฐประหารหรือรัฐบาลประชาธิปไตย อำนาจนิยมที่มีต่อเรือนร่างก็ยังทำงานอยู่ เพียงแต่ว่าในช่วงรัฐประหาร การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านจะมีข้อจำกัดมากกว่า เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกลิดรอสิทธิเสรีภาพการแสดงออก “

.
“โรงเรียนไทยไม่ได้อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากครูชั่ว นักเรียนเลว โรงเรียนแย่อย่างโดดๆ แต่มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังในเชิงประวัติศาสตร์อยู่ พลวัตความรุนแรงภายในโรงเรียน ปัจจัยสำคัญนั้นเกิดจากแนวคิดการควบคุมและการลงทัณฑ์นักเรียนที่ก่อตัวจากความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของกลุ่มผู้คนในสังคมไทย เพื่อใช้ในการกำราบและควบคุมนักเรียน
การก่อตัวของอารมณ์และเหตุผลของรัฐและสังคมไทยในการคบวคุมและการลงทัณฑ์นักเรียน นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า’ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม’ ซึ่งผู้เขียนให้ความสำคัญกับการอภิปรายเรือยร่างของนักเรียนผ่านเครื่องแบบและทรงผมพร้อมไปกับอำนาจเชิงพื้นที่แห่งระเบียบวินัยอย่างโรงเรียน…”