ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พวกเรา Book Re:public และเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเดินทางไปจัดงานเสวนาเล็กๆ ที่จังหวัดแพร่ ร่วมกับกลุ่ม ABO+ ในชื่องาน ’รุ่นเราเอาอะไรมาอ่าน’ ชวนตัวแทนคนรุ่นใหม่จากจังหวัดเชียงใหม่ ไปเปิดวง Book talk ขนาดกะทัดรัดในพื้นที่บ้านเก่าที่ถูกนำมารีโนเวทให้กลายเป็นห้องโถงสีขาวสองชั้น สำหรับรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแพร่ให้ได้มีพื้นที่โชว์ศักยภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเมืองให้เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ทางปัญญา ภายใต้ชื่อ ABO+ Phrae Creative Wisdom Space
โดยมี ‘พรีเมียร์’ นาวินธิติ ตัวแทนจากกลุ่ม SAAP 24:7 หนึ่งในสมาชิก Humanร้าย 5,
‘ขวัญ’ ขนิษฐา ตัวแทนกลุ่ม SYNC space หนึ่งในสมาชิก Human ร้าย5 และ
‘เจ๋ง’ สิรศิลป์ ตัวแทนนักศึกษาสาขา Media art and Design มหาลัยเชียงใหม่
ในงานเสวนาจัดขึ้นจาก ความเห็นของ Book Re:public และ ABO+ ที่พวกเรามองว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนนั้นขาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะพวกเขาคือทรัพยากรสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และร่วมสมัย ซึ่งการสนับสนุนศักยภาพของคนรุ่นใหม่อีกอย่างหนึ่งคือการสร้าง ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ จึงนำมาสู่ประเด็นที่พวกเราอยากชวนให้คนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน บรรยากาศและวัฒนธรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่นั้นมีทิศทางอย่างไร
บรรยากาศการอ่านของคนรุ่นใหม่
บรรยากาศการอ่านของคนรุ่นใหม่ ที่ทั้งสามคนได้สะท้อนให้เราเห็นผ่านมุมมองวัยรุ่นกับกระแสการอ่านที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากหนังสือที่จับต้องได้จริง สู่การอ่านที่แปรผันตามพฤติกรรมการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เมื่อโลกออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย คนรุ่นใหม่จากที่เป็นนักอ่านหรือผู้เสพสื่อ ก็ได้ผันตัวเป็นผู้ผลิตเนื้อหาเองได้ด้วยเช่นกัน ผ่านเนื้อหาที่มาจากมุมมองและประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของวัยเดียวกัน แต่แฝงไปด้วยนัยยะของประเด็นร่วมแห่งยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ยังสัมพันธ์กับประเด็นสังคม การเมือง และวัฒนธรรมในระหว่างบรรทัดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในรูปของนิยายเด็กดี ,เว็บบอร์ดฟิกวาย จนมาสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ที่เราทุกคนผลิตคอนเท้นท์บนเพจเฟสบุ๊คได้เองในไม่กี่วินาที และบรรยากาศการอ่านบนโลกอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนผู้อ่านสามารถโต้ตอบกับผู้ผลิตเนื้อหาได้โดยตรง ด้วยการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ กลายเป็นวงจรสืบค้นเนื้อหาต่อยอดจากสิ่งที่อ่าน และตั้งคำถามกับสิ่งที่อ่านด้วยเช่นกัน
แล้วแต่ละคน เติบโตมากับการอ่านอย่างไร
พรีเมียร์ : ในช่วงหนึ่งที่ผมโตขึ้นผมก็สนใจหนังสือวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะ วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุและผล เที่ยงแท้แน่นอนได้ จนกลายเป็นว่าผมดูถูกศาสตร์อื่นๆ ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา เพราะคำอธิบายของศาสตร์เหล่านี้มันจับต้องไม่ได้
จนเกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตผม คือช่วงกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ปี 2563 ที่ทำให้ผมเห็นว่า ปัญหารอบตัวมันมีเยอะเหลือเกิน แต่แล้วก็มีคนบางกลุ่มสามารถตอบคำถามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมได้ดีกว่า โดยไม่ได้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ใดๆเลย จนกลายเป็นว่าผมหันมาอ่านหนังสือศาสตร์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งประวัติศาสตร์ ,ปรัชญา ,สังคมศาสตร์ ,มานุษยวิทยา ,วรรณกรรม มันเปิดจินตนาการให้เราไปเห็นในโลกที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อน
เจ๋ง : ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำ เป็นเหมือนหนังสือที่สร้างวัฒนธรรมการอ่านในตัวผม คือเรื่อง “Bartleby” บาร์เทิลบี ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ จากสำนักพิมพ์สมมติ ซึ่งจะมีวลีหนึ่งที่ถูกเขียนในเล่มว่า “I would prefer not to….” (ข้าไม่ประสงค์ที่จะ….) เมื่อตัวละครประสงค์ที่จะไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง จนเกิดเป็นคำถาม ถ้ามนุษย์เริ่มขัดต่อขนบของสังคมเดิมกลายเป็นการไม่ทำอะไรเลยมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามองมันมิติของการเมืองมันอาจเป็นการตีความเรื่องการต่อต้าน ขัดขืนต่ออำนาจรัฐ ซึ่งการอ่านงานวรรณกรรมเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนวิถีการอ่านของผมไป
ขวัญ : ตัวอย่างหนังสือวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่เราอยากแนะนำ เรื่อง“‘the memories police” ของ Yoko Okawa สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊ค เป็นงานวรรณกรรมที่เราชอบมาก พูดถึงเรื่องเกาะแห่งหนึ่งที่ผู้คนในเกาะจะเกิดภาวะสูญเสียความทรงจำ, ซึ่งเกิดจากการทำให้ถูกลืม และลบความทรงจำด้วยการกำจัดสิ่งของเหล่านั้นด้วยหน้าที่ของตำรวจจับกุมความลับ เพื่อให้เกิดการลืมอย่างสมบูรณ์แบบ
สิ่งที่ได้ มันคือการเปิดจินตนาการทำให้เราเห็นโลกที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงอยู่แต่มันดำเนินอยู่ในงานวรรณกรรมที่เราอ่าน มันได้ทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราพบเจอบนโลกความเป็นจริง อย่างประเด็นการทำให้ลืมโดยตำรวจจับกุมความลับก็สัมพันธ์กับสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ในเวลานี้กับการจัดการความทรงจำที่รัฐเข้ามาควบคุมประชาชน
จากหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้ชีวิตในแต่ละช่วงวัยที่ผ่านมาของทั้งสามคน จึงทำให้เห็นว่า จากที่ทั้งสามคนเกริ่นถึงเส้นทางการเติบโต เชื่อมโยงกับหนังสือที่อ่าน และสิ่งที่ได้จากการอ่าน ทำให้เห็นว่าหนังสือเล่มหนึ่งทำให้เราเจอคำถามและคิดต่อยอดกับประเด็นอื่นๆ ไปได้เรื่อยๆ หลากมิติมากขึ้น ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับการเติบโตในสังคมแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างของแต่ละคน
แล้วเราอยากส่งต่อแรงบันดาลใจจากการอ่านไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วยหนังสือเล่มไหน
หนังสือที่เราอยากชวนให้คนรุ่นใหม่ “อ่าน”
พรีเมียร์ :
ซ้ายจัด…(ไม่)ดัดจริต The ABCs of Socialism
เป็นหนังสือที่พาเราไปทำความรู้จักระบบสังคมนิยมด้วยภาษาที่อ่านง่าย แบ่งเป็นบทความสั้นๆ หลายตอน ด้วยหัวข้อที่จั่วมาด้วยข้อครหาต่อแนวคิดสังคมนิยมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันยิ่งทำให้เราอยากอ่านหาคำตอบ เช่น ประเด็น “สังคมนิยมไม่ได้กลายเป็นระบอบเผด็จการในปั้นปลายอยู่เสมอหรอกหรือ? ” ซึ่งบางอย่างมันเป็นภาพลักษณ์ที่ติดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น หลังจากที่ผมอ่านเล่มนี้ ผมได้ตั้งคำถามต่อการเมืองในมหาลัยมากยิ่งขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานผลักดันนโยบายสวัสดิการนักศึกษาในมหาลัย
หนังสือมานุษยวิทยาศตร์ที่ทำความเข้าใจว่า กษัติรย์คืออะไร
สังคมปัจจุบันในประเทศไทยมีความหลากหลายทางความคิดต่อเรื่องการดำรงอยู่ของ’กษัตริย์’ ทั้งคนที่รัก ,ไม่รัก คนที่เห็นด้วยว่าควรจะปฏิรูประบอบกษัตริย์ และ คนที่เห็นด้วยว่าควรที่จะล้มล้างระบอบ
แต่หนังสือเล่มนี้ ได้เปิดมุมมองคำถามที่พยายามเข้าใจกิจกรรมของมนุษย์ต่อแนวคิดเรื่อง ‘กษัติรย์’ เป็นคำถามที่เมื่อถามคนทั่วไปมันกลายเป็นเพียงคำถามธรรดาๆ แต่พอตั้งคำถามเหล่านี้กับกษัตริย์มันจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น ‘กษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างไรในแต่ละยุคสมัย , กษัตริย์คนแรกของโลกคือใคร , ถ้ากษัตริย์ไม่มีชาวบ้านจะอยู่ได้หรือไม่, กษัตริย์ในประวัติศาสตร์บางคนสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนได้อย่างไร
พอผมอ่านจบเลยได้ข้อคิดว่า จริงๆแล้วกษัตริย์อาจอยู่ในภาวะที่ลำบากเช่นกัน เพราะถูกปฏิบัติให้เป็นสมมติเทพจากคนอื่น และต้องปฏบัติตนในฐานะที่ไม่ใช่มนุษย์ไปด้วย จึงทำให้เห็นแง่มุมการขยายอาณาเขตข้อถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ออกไป แล้วทีนี้ข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางใดสังคมก็จะให้คำตอบกับเรื่องนี้เอง
เจ๋ง :
ความรู้ฉบับพกพา MARX มาร์กซ ฉบับปรับปรุงใหม่
เราทุกคนไม่สามารถปฏิเสธการใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมได้ ตราบใดที่เราตัดขาดระบบทุนนิยมไม่ได้ ทฤษฎีของมาร์กซก็ยังใช้ได้อยู่ แต่บางส่วนก็ต้องยอมรับว่ามันล้าสมัย ซึ่งสิ่งที่มาร์กซเขียนเอาไว้ยังถูกนำมาพัฒนาเป็นงานเขียนวิพากษ์ระบบทุนนิยมร่วมสมัยในบริบทอื่นๆ อย่างเล่มที่ผมจะแนะนำต่อไป
“ทำไมต้องตกหลุมรัก”
เป็นหนังสือที่วัยรุ่นซื้อไปอ่านกันเยอะมากเพราะเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับความสนใจของวัยรุ่น เนื้อหาพูดถึงว่า ความรักมันผูกโยงกับระบบทุนนิยม ทั้งระบบเศรษฐกิจ ค่านิยมการสร้างครอบครัว และโลกทุนนิยมทำลาย(ภาพฝัน)รักแท้ของคนเราได้อย่างไร
ขวัญ :
แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน
หนังสือที่เขียนเล่าเรื่องให้เราได้เข้าใจ’เพศภาพ’ที่ลื่นไหล ไม่ได้อธิบายบนฐานของทฤษฎีความหลากหลายทางเพศ หนังสือเล่าผ่านเรื่องราวของผู้เขียนที่เป็นลูกครึ่งอินเดีย-อเมริกา ที่ประสบปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในช่วงวัยรุ่นผ่านเรื่องเพศภาพและเชื้อชาติของเขา แต่ภายหลังมาประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมากขึ้นในสังคมอเมริกา ทำให้ความหลากหลายทางเพศไม่ได้จำเป็นต่อการนิยามความเป็นเพศที่ตายตัวอีกต่อไป และหนังสือได้ชวนให้ผู้อ่านได้เห็นว่า การทำความเข้าใจเพศภาพผู้อื่นต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคม และการทำความเข้าใจผ่านการพูดคุยเชิงอารมณ์ความรู้สึกเพื่อยอมรับตัวตนจากภายใน
ส่งท้าย คนรุ่นใหม่อย่างเห็นอะไรในวัฒนธรรมการอ่าน
- ก่อนจบการเสวนา ‘เจ๋ง’ ได้อ่านบทกวี จากหนังสือ จุดตัดบนฟากฟ้า พร้อมแลกเปลี่ยนว่าอยากเห็นหนังสือประเภท’บทกวี’ เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่มากขึ้น หรือเกิดพื้นที่งานเสวนาหรือวงอ่านกวีเป็นที่นิยมและมีรูปแบบที่ไม่ติดเพียงภาพลักษ์ว่าเป็นสิ่งที่เชย
- ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งที่เป็นคุณครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ได้แลกเปลี่ยนถึงประเด็นที่เด็กและเยาวชนกำลังประสบกับปัญหาภาวะสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการอ่านนานๆ ได้ และหวังว่าวัฒนธรรมการอ่านจะช่วยพัฒนาศักยภาพและสมาธิของเด็กและเยาวชนได้ ด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาได้อ่านในสิ่งที่ชอบ
- อีกหนึ่งท่านรุ่นอาวุโสร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะคนที่คอยเฝ้ามอง สนับสนุนคนรุ่นใหม่ผ่านการทำงานขับเคลื่อนสังคมในนามกลุ่มเครือข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ได้ให้ความเห็นและกำลังใจกับเรา
“ผมนึกถึงภาพปี พ.ศ.2516 ในยุคที่หนังสือฝ่ายซ้ายถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างแพร่หลายจนทำให้นักศึกษาในยุคนั้นมีกระแสการอ่านที่เปลี่ยนไป แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้รัฐต้องกำจัดหนังสือเหล่านี้ทิ้ง คนรุ่นใหม่บางส่วนต้องหนีเข้าป่าเพราะความคิดบางอย่างที่รัฐมองว่าเป็นภัย …จากเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ผมจึงต้องไปพำนักอยู่สวีเดน จนผ่านพ้นมาสู่สังคมประชาธิปไตย ตัวอย่างการช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่รัฐบาลสวีเดนเข้ามาสนับสนุน คือการมีห้องสมุด ทั้งในโรงเรียน และกระจายตามมุมเมือง ตำบล จังหวัด ทั้งเล็กและใหญ่ รวมไปถึงการอุดหนุนโรงพิมพ์ในการผลิตหนังสือด้วย แม้จะไม่มาก แต่ก็มีส่วนทำให้หนังสือกลายเป็นของที่คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป เพราะ การให้ปัญญากับประชาชนคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน …” - ส่วนฝั่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ทั้งสามมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้ทุกคนได้เพิ่มศักยภาพการอ่าน อ่านอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน วรรณกรรม หรือหนังสือความรู้ศาสตร์ต่างๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในการเติบโตของเรา
และสุดท้ายการอ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างที่อ่าน การอ่านที่ดีคือการได้ลองตั้งคำถามไปกับมันเพื่อเกิดเป็นวงจรการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด