, ,

Human is born with Human Rights…ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกันกับสิทธิมนุษยชน

Book Re:public online Avatar

Human is born with Human Rights…ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกันกับสิทธิมนุษยชน

Human ร้าย, Human Wrong ปูพื้นฐาน สร้างความเข้าใจประเด็น สิทธิมนุษยชน

แม้จะเป็นเรื่องที่ดูซับซ้อนไปเสียหน่อยในการกล่าวถึงประเด็นเรื่อง “สิทธิ” ในประเทศไทยว่าอำนาจที่ปัจเจกมีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตตามใจของตัวเองนั้นต้องเป็นไปอย่างไร

 คำว่า ‘ตามใจ’ นั้นมีขอบเขตอยู่ตรงไหนในฐานะมนุษย์และพลเมือง คำว่า ‘สิทธิ’ และ ‘สิทธิมนุษยชน’ มีความสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิตในวันธรรมดาๆ ของเราเองเพราะมันส่งผลต่อการตัดสินใจเลือก ตัดสินใจเชื่อ และตัดสินใจลงมือทำ

เรื่องสิทธิฝังอยู่ในทุกบริบทของการใช้ชีวิต ยิ่งนานไปยิ่งเป็นตัวละครหลักในการถกเถียงทั้งในแง่มุมทางสังคมและการเมือง คำถามสำคัญคือคนส่วนใหญ่เข้าใจมันลึกซึ้งแค่ไหน แยกได้ไหมว่าสิ่งไหนคือ “สิทธิ” สิ่งไหนคือ “สิทธิมนุษยชน”

ตามตำราจากกระทรวงศึกษาธิการในประเทศไทย คำว่าสิทธิมนุษยชนถูกบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรมัธยม ในบทหน้าที่พลเมืองและอธิบายถึงเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1948 เพื่อแสดงจุดยืนว่าได้ใส่เนื้อหาเรื่องนี้เข้าไปในหนังสือเรียนแล้ว แต่ในความเป็นจริงประเด็นนี้มีความซับซ้อนมากกว่าเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยและความเท่าเทียม

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนชาวฮิวแมนร้ายรุ่น 3 ลองคิดเล่นๆ และทบทวนอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วเราเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน เพียงแค่การอยากมีชีวิตที่ดีนั่นนับเป็นหนึ่งในร่มใหญ่ของสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิมนุษยชน

180 , ฐิตาพร คล้อยตามวงศ์ , 2019 — ผลงานศิลปะวิพากษ์ประเด็นความไม่เท่าเทียมและการกดขี่แรงงานหญิงข้ามชาติ

อาจารย์เบญจรัตน์เสริมต่อว่าเรามักจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความเห็นอกเห็นใจต่ออีกฝ่ายในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งการเห็นอกเห็นใจที่ว่าไม่ใช่อารมณ์สงสาร เช่น การที่เราช่วยเงินขอทานด้วยความสงสาร จึงยังไม่ใช่วิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ว่าเขาต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา 

“การศึกษาขั้นพื้นฐานถูกสร้างขึ้นมาว่าทุกคนควรจะเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้ เช่น ถ้าผู้ชายกับผู้หญิงทำงานได้ประสิทธิภาพเท่ากัน แต่ผู้ชายได้เลื่อนขั้นเงินเดือนสูงกว่า นี่เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว เพราะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนจะมีความแตกต่างหลากหลายแค่ไหน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไร มีความคิดทางศาสนา เพศสภาพหรือความเชื่อทางการเมืองอย่างไรก็ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน”

กล่อง Ready to go ,อรทัย งานไพโรจน์สกุล , 2019 — ผลงานศิลปะในประเด็นปัญหาด้านการศึกษาและการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติ

“เคสขอทานในมุมมองสิทธิมนุษยชน เราก็ต้องตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาถึงไม่สามารถเข้าถึงการทำงานได้ รัฐควรจะต้องไปจัดการบริการอะไรให้ เพราะฉะนั้นสิทธิเลยเป็นเรื่องของระดับบุคคลและระดับความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐ หลักการพื้นฐานง่ายๆ ก็คือเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ การไม่เลือกปฏิบัติ 

รัฐต้องให้การเข้าถึงสิทธิหรือการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ทุกคน แต่ปัญหาคือรัฐมักจะอ้างว่าตัวเองจนแล้วไม่สามารถจัดการบริการขั้นพื้นฐานให้ประชาชนได้ ไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลให้ทุกคนได้ คนที่สนใจประเด็นเหล่านี้จึงต้องตั้งคำถามว่างบประมาณเหล่านี้ถูกจัดสรรไปที่ไหน

สิทธิมนุษยชนในระบบรัฐสมัยใหม่เป็นสิทธิระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยเฉพาะหลังๆ มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่กำหนดหน้าที่ของรัฐเลยว่ารัฐต้องเป็นคนรับรองให้ทุกคนสามารถเลือกคู่ครองได้อย่างเสรี รัฐต้องดูแลให้บริษัทต่างๆ จัดสภาพการทำงานที่ดี ไม่ปลดคนงานโดยไม่มีค่าชดเชย รัฐต้องประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน”

workshop ประเด็นสิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน ในโครงการ Human ร้าย Human Wrong ปีที่ 3

เทรนด์ของสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมีการปรับตามโลกที่เปลี่ยนผันไปเรื่อยๆ แต่เดิมอาจจะมีเพียงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ยึดโยงเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพ การเลือกตั้ง หรือในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมก็มีพัฒนาการในด้านการศึกษา สถานบริการทางสุขภาวะ หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

แต่ในระยะ 10 ปีให้หลังมานี้เริ่มมีการให้ความสำคัญกับสิทธิในการทรมานคนมากขึ้นจนมีกฎหมายออกมา รวมถึงสิทธิของผู้พิการและแรงงานข้ามชาติ กฎหมายเรื่องการห้ามการอุ้มหายเพราะเริ่มมีการเรียกร้องและสร้างบรรทัดฐานเรื่องสิทธิขึ้นมา 

สถานการณ์เรื่องสิทธิในการสมรสเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ในปัจจุบันก็กำลังเผ็ดร้อนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ มีการเดินเรื่องแก้ไขทั้งในเชิงนโยบายและการต่อสู้จากภาคประชาสังคม เราจึงมองเห็นเฉดและสีสันของการผลักดันสิทธิชุดใหม่ไปเรื่อยๆ ในโลกที่กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่การต่อสู้ดุเดือดเหล่านี้ล้วนต้องมีการจดทะเบียนกับ UN ขึ้นเพื่อทำให้เกิดผลบังคับใช้ให้ได้

“ถ้าไม่ลงนามก็เหมือนเสือที่ไม่มีเขี้ยว อย่างที่บอกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับประชาชนใช่ไหม แล้วใครจะควบคุมรัฐได้ เลยมีกลไกที่เป็นระบบโลกขึ้นมาอีกตัวหนึ่งที่เขาพยายามสร้างมาตรฐานขึ้นมาให้ไม่เหมือนกฎหมายในประเทศที่รัฐออกแล้วทุกคนต้องบังคับใช้โดยทันที เนื่องจาก UN ไม่ใชรัฐบาลโลก เป็นแค่สมาคมของประเทศ ของรัฐต่างๆ ดังนั้นรัฐจะต้องเป็นฝ่ายแสดงเจตจำนงว่าเราจะยอมปฏิบัติตามหลักนี้”

อาจารย์เบญจรัตน์เสริมต่อว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศอย่างน้อย 2-3 ล้านคน ดังนั้นรัฐจึงกลัวที่จะลงนามรองรับเรื่องสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ส่งแรงงานออกไปทำงานนอกประเทศจำนวนมากจึงอยากคุ้มครองประชากรในประเทศที่ตนเองส่งออกไป 

ระบบการคุ้มครองเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีอำนาจเพื่อคัดง้างกับระดับความร้ายแรงของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ที่แต่ละประเทศประสบ แต่อย่างน้อยมันสร้างมาตรฐานบางอย่างในการบ่งชี้ว่าเรามองอีกฝ่ายเป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน

“มันคือเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี แต่มันไม่ได้มีคำตอบอะไรที่ตายตัวหรอก คุณต้องต่อสู้เพื่อจะนิยามมันว่านี่คือชีวิตดีๆ ที่ฉันต้องการ”

สิทธมนุษยชนต้องนับคนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นพลเมืองด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีใบเกิด การมีสัญชาติ การมีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกครอบครัว การนับถือศาสนา อาชีพ เหล่านี้คือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น  

เราอาจจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงเดี่ยวที่บริษัทถือโอกาสใช้สัญญาจ้างชั่วคราวเพื่อไม่ต้องมอบสวัสดิการ เราอาจจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยผู้หญิงที่อยู่ภายใต้กรอบการมองบางอย่างของสังคม หรือที่ชัดเจนมากๆ คือถ้าเราเป็นแรงงานข้ามชาติ คนไร้สัญชาติที่ไม่มีบัตรประชาชนรับรองว่าเป็นประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ย่อมตกอยู่ในโคลนตมของการโดนริดรอนสิทธิหากรัฐไม่ช่วยกำกับดูแลหรือเราไม่สู้เพื่อสิทธินั้นด้วยตัวของเราเอง

“มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติอยู่ในภาคเหนือน่าจะ 4-5แสนคน นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐไทยมีพัฒนาการที่ดีในการค่อยๆ สร้างมาตรการให้คนได้สัญชาติเพิ่มเยอะขึ้น แต่ถ้ากรณีของคนที่ไม่มีสัญชาติ  เขาก็เข้าไม่ถึงสิทธิอื่นๆ ที่ควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษา การเลือกตั้ง”

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระบุไว้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิทางธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดมาไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไหน ชาติพันธุ์ใด เพศใด หรือสีผิวแบบใดก็ตาม แต่ในเมื่อปัญหาเรื่องนี้หยั่งลึกไปถึงเรื่องการให้สิทธิในการเป็นพลเมืองหรือประชากร รัฐก็ควรจะขุดลึกลงไปถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองด้วยเช่นกันหากจะยึดเหนี่ยวอยู่กับหมุดหมายเรื่องสิทธิเท่าเทียมในฐานะมนุษย์

สิ่งใดอีกบ้างที่จำกัดเราให้มีสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน วาทกรรมยอดฮิตในยุคหนึ่ง(หรืออาจหลงเหลือมาในยุคนี้บ้าง) คือในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงในบางสังคมอาจจะถูกคาดหวังให้ได้แต่งงานกับผู้ชายฐานะดีเพื่อเลี้ยงครอบครัว หรือด้วยวาทกรรมหญิงดีที่ถูกคาดหวังให้คงกิริยางดงาม มีมารยาท นอบน้อม และมี “ความเป็นผู้หญิง” ที่ไม่ได้ควบคุมเพียงลักษณะการแต่งกายภายนอกและการแสดงออกเพียงผิวเผิน แต่ควบคุมไปถึงนิสัย พฤติกรรม และวิถีปฏิบัติที่แช่แข็งผู้หญิงหลายคนให้ยิ้มแห้ง หัวใจแล้งไปด้วยความอึดอัด

“ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงดีๆ ไม่ควรออกไปเที่ยวกลางคืน แต่การที่จะบอกว่าผู้หญิงไม่ควรออกไปเที่ยวกลางคืนเพราะอันตรายมันมีนัยยะเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ จริงๆ เราต้องกลับโจทย์ว่าทำไมเราไม่ทำถนนตรงนั้นให้สว่างและปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่กลายเป็นว่าเพราะเธอเป็นผู้หญิง ฉันจึงห่วงใยเธอเพราะเธอบอบบาง เธออย่าไปเที่ยวกลางคืนเลย แล้วผู้หญิงที่ทำงานกะดึกล่ะ มันกระทบต่อสิทธิที่จะทำงานของผู้หญิงเหล่านี้ หรือในการรับสมัครงาน บางที่ไม่อยากรับผู้หญิงเพราะผู้หญิงอาจจะท้องแล้วต้องลาคลอดทำให้เสียสวัสดิการฟรีๆ”

คำสอนเชิงวัฒนธรรมก็มีผลต่อสิทธิของผู้หญิง เช่น การสอนว่าผู้หญิงต้องเชื่อฟังผัว เป็นช้างเท้าหลัง สงบปากสงบคำ ไม่สู้กลับ ซึ่งนี่คือความเชื่อในระบบแบบชายเป็นใหญ่ ในชีวิตคุณน่าจะรู้จักคนที่ถูกผัวทำร้าย และยังทนอยู่ตรงนั้น ส่วนหนึ่งเพราะอะไร ถ้าไปแจ้งความจะเจอตำรวจพูดว่าเป็นเรื่องผัวเมียทะเลาะกัน ไม่รับแจ้งความ เพื่อนบ้านก็รู้สึกไม่อยากจุ้นจ้าน ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่จริงๆ แล้วนี่คือสิทธิของผู้หญิงที่จะไม่ถูกทำร้าย”

ฉันเท่าเทียม I – Equal ,ธัญลักษณ์ มีชำนะ , 2017 — ผลงานศิลปะในประเด็นค่านิยมที่กดทับวิถีชีวิตของผู้หญิงในสังคมไทย

สังคมมีมาตรฐานเชิงคุณค่าที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน เช่น ผู้ขายบริการต้องทลายวาทกรรมหลายเลเยอร์ที่มองว่าพวกเขาไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิในฐานะพลเมือง

หรือแม้กระทั่งความเป็นเด็กก็ยังถูกกำกับดูแลผ่านแว่นที่เชื่อว่าพวกเขาต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ กตัญญู นอบน้อมถ่อมตน ชัดเจนกว่านั้นคือเรามีเกณฑ์อายุชัดเจนว่าอายุเท่าไหร่จึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง หรือการทำร้ายร่างกายเด็กผ่านมายาคติที่บอกว่าต้องโดนไม้เรียวแล้วถึงจะได้ดี สิ่งเหล่านี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

กุญแจความดี ,พิสุทธิ์ศักดิ์ วัฒนาชัยกูล  , 2017 — ผลงานศิลปะวิพากษ์ค่านิยมและจริยธรรมแบบไทยๆที่ส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง

สิทธิมนุษยชนจึงถูกจำกัดเงื่อนไขด้วยหลายๆ ปัจจัยในสังคม ทั้งเรื่องการเมืองที่เกี่ยวโยงกับสถานภาพความเป็นมนุษย์หรือการได้รับรองว่าเป็นมนุษย์ที่เป็นพลเมืองในสังคมนั้นๆ 

เราจึงเริ่มแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้โดยการพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขของชีวิตที่แตกต่าง ร่วมกันเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยกให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ถูกมองเห็น 

หรือวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างสามัญที่สุดคือการมองมนุษย์ในเวอร์ชันที่เขาเป็นและตัดสินกันให้น้อยที่สุด เพราะเราต่างพยายามที่จะมีชีวิตที่ดีภายใต้จักรวาลที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด



Book Re:public online Avatar