​Through The Thrones

Book Re:public online Avatar

Through The Thrones : Game of Thrones

นำวงสนทนาโดย


ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  
โตมร ศุขปรีชา 
และทีปกร วุฒิพิทยามงคล 

–  เสวนา “Through the Thrones” นี้ คือเสวนาที่ต่อยอดจากเรื่องราวในซีรีส์ที่ครองใจคนครึ่งโลกอย่าง “Game of Thrones” ที่แฝงประเด็นการเมือง สังคม เพศ ความเชื่อ และอำนาจเอาไว้อย่างเข้มข้น

–  นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่งานเสวนาของ Book Re:public คับคั่งไปด้วยผู้ฟังทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ อันเนื่องมาด้วยความน่าสนใจของประเด็นเสวนา วิทยากร และความป๊อบของซีรีส์ ที่เชื่อมโยงผู้คนหลากสไตล์ให้มาล้อมวงคุยกัน

–  เสวนาครั้งนี้เต็มไปด้วยการสปอยล์เนื้อหาสำคัญของเรื่องทั้งการสปอยล์อนาคตและการสปอยล์ย้อนอดีต เพราะนี่คือวงคุยของเหล่าวิทยากรและผู้ร่วมเสวนาที่เป็นคอซีรีส์ Game of Thrones ที่เต็มไปด้วยความอัดอั้น ความสนุกดุเด็ดเผ็ดมันส์ และประเด็นแลกเปลี่ยนที่ไม่อาจเลี่ยงสปอยล์ได้อย่างแท้จริง


“…..ส่วนตัวดิฉันรู้สึกชอบพล็อตและการมีอยู่ของเซอร์ซีในซีรีส์เรื่องนี้ ซีรีส์เรื่องนี้ดูเผินๆ มันเหมือนการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและบัลลังก์กันของกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ชาย แต่ถ้าเราดูให้ดีๆ ธีมซึ่งมันคู่ขนานกันไปกับการแย่งชิงบัลลังก์ดังกล่าวก็คือผู้หญิงในเรื่อง เราจะพบการเมืองในรูปแบบต่างๆ ของผู้หญิงแต่ละคนที่อยู่ต่างบทบาทกันในเรื่อง พยายามที่จะเคลื่อนไหวภายใต้ระบบการเมืองปิตาธิปไตยของยุโรปกลางหรือในยุคนั้นซึ่งมันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ


จริงๆ แล้วตัวละครเซอร์ซี ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับอำนาจ  โดยเฉพาะในระบอบกษัตริย์เป็นใหญ่ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้ชายอย่างนั้น อย่างที่เรารู้กันว่าเซอร์ซีเกิดมาพร้อมกับแฝดซึ่งก็คือเจอร์รี เมื่อเติบโตขึ้นมาด้วยกันเรื่อยๆ ก็จะเริ่มพบการแบ่งแยกเพศที่ชัดเจน เจอร์รีถูกส่งให้ไปเรียนวิชาแบบเด็กผู้ชายเพื่อที่จะสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพ่อ สำหรับเซอร์ซีนั้นเป็นเช่นเดียวกับอาร์ยาและผู้หญิงคนอื่นๆ ในตระกูลสตาร์คซึ่งถูกสอนให้ทำครัวและอยู่ในบ้านเพื่อที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้หญิง ชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจึงไม่ได้ราบรื่น และขณะที่เธอกำลังจะแต่งงานด้วยความรักกับลูกของญาติ ไทวินพ่อของเธอกลับสั่งให้ลูกทุกคนรวมถึงเธอเข้าสู่ระบบการแต่งงานเพื่อสร้างพันธมิตรและขยายอำนาจทางการเมืองให้กับตระกูล เพราะฉะนั้นชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนโตขึ้นมาจึงเป็นชีวิตที่เลือกไม่ได้ ตอนที่แต่งกับกษัตริย์โรเบิร์ต บาราเธียนก็ไม่ได้แต่งงานด้วยความรัก แล้วก็พบกับชีวิตที่ค่อนข้างขมขื่นในเรื่องเซ็กส์ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการที่เธอพยายามที่จะไต่อำนาจขึ้นมา ตลอดเรื่องทั้งในหนังสือและในซีรีส์เราจะเห็นว่าบุคลิกที่แท้จริงของเซอร์ซีคือการพยายามต่อสู้เพื่อจะเข้าไปอยู่ในอำนาจ ในพื้นที่ที่ผู้ชายครองอำนาจมาตั้งแต่แรกผ่านลูกชายของเธอ

ในความลุ่มๆ ดอนๆ และความพยายามที่จะสร้างบัลลังก์และอำนาจขึ้นมานี้มันก็ย่อมต้องมีความผิดพลาด ฉากหนึ่งที่ดิฉันชอบมากและคิดว่าแม้กระทั่งคนที่เกลียดเซอร์ซีจะเห็นแล้วสะเทือนใจคือฉาก atonment หรือฉากที่เธอถูกกล้อนหัว เดินเปลือย เพื่อสารภาพและสำนึกถึงผิดบาปต่อพระเจ้าในฐานที่แอบคบชู้หรือมีเซ็กส์นอกการแต่งงาน ซึ่งจำลองมาจากประวัติศาสตร์จริงของ Jane Shore หนึ่งในนางสนมของ King Edward IV (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ) โดยในประวัติศาสตร์จริงเจน ชอร์ไม่ถึงขั้นต้องเปลือยกายทั้งตัวเหมือนเซอร์ซี เพราะการเปลือยบางส่วนและต้องเดินผ่านเข้าไปท่ามกลางผู้คนนั้นก็มากพอแล้วที่จะสร้างความรู้สึกละอายทางเพศ ในมุมนั้นเราจะพบว่าจริงๆ แล้วความเป็น evil ของเซอร์ซีนั้นคือความเป็น evil ภายใต้ระบบศาสนจักรที่นำโดยผู้ชายซึ่งพยายามที่จะควบคุมเพศวิถีของผู้หญิง ดังนั้นอีกมิติของการคัดง้างกับพลังอำนาจมันจึงมีความสลับซับซ้อนอยู่ บุคลิกภาพของเซอร์ซีจึงเป็นบุคลิกภาพที่ค่อนข้างน่าสนใจ…..”

[ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี – งานเสวนา “Through the Thrones”]



“…..ผมสนใจซีรีส์เกมออฟโทรนส์ในฐานะที่มันแสดงให้เราเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมกีค (Geek Culture) หรือกลุ่มวัฒนธรรมของความสนใจเฉพาะด้าน  ผมรู้สึกว่าเกมออฟโทรนส์เป็นสื่อที่ค่อนข้างน่าสนใจในแง่ที่ว่า ในยุคอินเทอร์เน็ตแบบนี้แล้ว ทุกคนสนใจในเรื่องที่เฉพาะกลุ่ม (niche) การเขียน การอ่าน การเสพสื่ออาจไม่ต้องอยู่ในรูปแบบที่บังคับให้เราใช้เวลากับมันในทันทีทันใด (real – time) แล้ว แต่เกมออฟโทรนส์มันทำตัวเปรียบเสมือนแมตช์การแข่งขันแมตช์หนึ่งที่ทุกคนต้องมาดูในเวลาจริง และถ้าไม่ดูทันทีทันใดตามเวลาจริงแล้วเราจะรู้สึกเหมือนถูกสปอยล์ เวลาที่ผมดูเกมออฟโทรนส์บางทีมันคล้ายการดูเรียลลิตี้โชว์เหมือนกันนะ ซึ่งประหลาดมากเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องแต่ง มันเหมือนเรียลลิตี้โชว์ในแง่ที่ว่าการเริ่มต้นของมันมาพร้อมกับผู้เข้าแข่งขันหลายๆ คน จากหลายๆ ทีมให้เราเลือกเชียร์ โดยที่ตอนแรกๆ จะเป็นการทำความรู้จักกับตัวละครหรือผู้เข้าแข่งขันพวกนี้ แล้วก็ค่อยๆ ฟันผู้เข้าแข่งขันออกจากรายการทีละคน  เวลาที่ผมดูรายการเรียลลิตี้โชว์ ประกวดร้องเพลงต่างๆ ผมจะชอบดูรอบคัดเลือก แล้วพอมันเข้าสู่รอบที่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ รายการมันจะหมดเสน่ห์สำหรับผมแล้ว ซึ่งเหมือนกันมากกับตอนดูเกมออฟโทรนส์ช่วงแรกๆ ที่เราจะเห็นตัวละครที่มีสีสันหลากหลายให้เราเลือกเชียร์ แต่สุดท้ายพอเข้าสู่การต่อสู้หลักในเรื่องจริงๆ ก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ กลายเป็นความดีสู้กับความชั่วอย่างชัดเจน

ผมจึงสนใจวิธีการสร้างสื่อแบบเกมออฟโทรนส์ที่ผมเข้าใจว่ามันได้รับความนิยมมากๆ มากกว่า เพราะมันเกิดขึ้นและอยู่ในช่วงที่เรามีโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีที่ให้เราไปศึกษาและสร้างทฤษฎีอะไรต่อจากการดูได้เอง เราก็อาจดูโดยที่มันไม่ได้มีความเป็นไวรัลขนาดนี้ มันเป็นการดูที่ผมอยากจะเรียกว่า “Active viewing” คือเราไม่สามารถดูเกมส์ออฟโทรนส์แบบ passive แล้วปล่อยให้เรื่องมันพาเราไปได้ อย่างเกมออฟโทรนส์ตอนแรกๆ ถ้าเราไม่หาข้อมูลเพิ่มเราจะดูไม่สนุก ซึ่งมันเป็นวิธีการผลิตสื่อที่อาจเรียกว่าเป็น prestige T.V. หรือการสร้างสื่อสมัยใหม่ที่มีจักรวาลเป็นของตัวเอง และถ้าคุณไม่ดูแบบ active viewing หรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมไปกับมัน มันจะดูไม่สนุก เราก็จะแค่ดูไปเรื่อยๆ อย่างไม่ผูกพันอะไรกับเรื่อง ซึ่งการสร้างเรื่องฉากหน้าเพื่อให้คนไปปะติดปะต่อข้างหลังกันเอาเอง ไปสร้างทฤษฎีกันเอาเอง ผมว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนที่สื่อสมัยใหม่วางแผนมาเป็นอย่างดีให้เกิดผลพวงแบบนี้ ถ้าเกมออฟโทรนส์บอกเรื่องราวของตัวเองทั้งหมด ชุมชนของคนดูหรือ community ข้างหลังก็จะไม่เกิด และผมก็เข้าใจว่าผู้ผลิตก็พยายามจะสร้างช่องทางต่างๆ ในการที่จะให้คนดูไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและสานต่อเรื่องราวของตัวเองหลังจากการดู ซึ่งเป็นวิธีสร้าง community รอบๆ เกมออฟโทรนส์ที่น่าสนใจ ซึ่งผมก็เข้าใจว่ามันเข้าไปสอดคล้องกับความเป็น Geek ของคนในสังคมที่มากขึ้นด้วย…..”

[ทีปกร วุฒิพิทยามงคล – งานเสวนา “Through the Thrones”]



Book Re:public online Avatar